หัวใจของคริสตศาสนา รวมถึงพิธีกรรมเกี่ยวกับความตาย สัมพันธ์แนบแน่นกับความเชื่อเรื่องการสิ้นพระชนม์ และการกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้า การสิ้นพระชนม์ของพระองค์ไถ่บาปของมนุษย์ และการกลับคืนพระชนมชีพนั้นก็เป็นการนำเอาชีวิต และวิญญาณจิตกลับมาสู่มนุษย์อีกครั้ง คริสตศาสนิกชนโยงความตายกับแนวคิดเรื่องบาปว่า ความตายเป็นผลจากบาปของมนุษย์ หรือเป็นราคาที่มนุษย์ต้องจ่ายเพราะฝ่าฝืนน้ำพระทัยของพระเจ้า ที่พระคัมภีร์กล่าวว่า “ราคาของบาป คือความตาย” คำว่า “ความตาย” นี้ไม่ได้หมายถึง ความตายทางเนื้อหนังร่างกายแต่เพียงอย่างเดียว แต่การที่ต้องพัดพลาดจากสิ่งที่รัก และการต้องอยู่กับสิ่งที่ไม่รัก รวมทั้งความวิปโยคโศกเศร้าทั้งมวลที่เกิดขึ้นในชีวิตมนุษย์นั้น ก็ถือว่าเป็นความหมายของความตายด้วยเช่นกัน
ตามคติของคริสตศาสนา ทุกคนเกิดมามีวิญญาณจิตและมีบาปติดตัวมาด้วย ซึ่งดำเนินไปในเนื้อหนังร่างกายของตนจนสิ้นอายุขัยที่พระเจ้าทรงประทานให้ ทุกคนต้องตายทางร่างกายครั้งหนึ่ง ส่วนวิญญาณจิตจะดำเนินต่อไปเป็นนิรันดร โดยไม่ต้องอาศัยเนื้อหนังร่างกายอีกต่อไป ดังนั้นช่วงเวลาที่วิญญาณจิตของมนุษย์ดำเนินไปในเนื้อหนังร่างกายนี่แหละ เป็นช่วงสำคัญและมีค่าที่สุด
คริสตศาสนิกชนในระยะแรก ขยายแนวคิดเรื่องครอบครัว และวงศ์ญาติ ครอบคลุมถึงพระศาสนจักรโดยถือว่าบรรดาคริสตศาสนิกชนด้วยกัน ล้วนเป็นเพื่อน หรือญาติพี่น้องที่จะต้องตายจากกันด้วยในที่สุด เพื่อรอองค์พระผู้เป็นเจ้าเสด็จกลับมาอีกครั้งหนึ่ง และมีชีวิตอันนิรันดรอีกครั้ง ในพระอาณาจักรแห่งพระองค์ ความคิดเรื่องการฟื้นคืนชีพนี้คาดว่า ทำให้บรรดาคริสตศาสนิกชนนิยมการฝังมากกว่าการเผา แม้จะมีผู้แย้งว่า อันที่จริงในอดีต ชาวยิวที่ยังไม่ได้เข้ารีต ก็ทำพิธีศพด้วยการฝังโดยจะเก็บกระดูกไว้ในโถ เนื่องจากความเชื่อที่ว่าผู้ตายจะฟื้นคืนชีวิตใหม่ในภายหลัง
แนวคิดของคริสตศาสนิกชน เรื่องการฝังนี้เข้ามาแทนที่การเผา ซึ่งเดิมเป็นที่นิยมในอาณาจักรโรมันดังพบว่าในระยะต้นคริสต์ศตวรรษที่ 2 เมื่อขุดหลุมศพของชาวโรมัน จะพบแต่เถ้ากระดูก เมื่อล่วงเข้ากลางศตวรรษ บางหลุมศพก็จะเป็นเพียงกระดูก ขณะที่บางหลุมเป็นเถ้ากระดูก และสุดท้ายเมื่อถึงปลายศตวรรษที่ 2 หลุมศพที่ขุดพบส่วนใหญ่มักจะพบแต่กระดูกของผู้ตายเท่านั้น
ในอังกฤษประเพณีการฝังนี้ดำรงอยู่จนกระทั่งศตวรรษที่ 17 ซึ่งมีการปฏิวัติอุตสาหกรรม และมีชุมชนเมืองเกิดขึ้น ทำให้เกิดปัญหาเรื่องความแออัด พื้นที่ว่างหาได้ยาก ทำให้ประเพณีการทำศพเริ่มเกิดการเปลี่ยนแปลงในเมืองใหญ่ เช่น สุสานมักเริ่มย้ายไปตั้งห่างออกจากตัวเมือง และเริ่มมีการทำศพด้วยวิธีการเผา นอกจากนี้ทฤษฎีวิวัฒนาการของ ชาร์ลส ดาวิน ในหนังสือเรื่อง การดำเนินชีวิต (The Origin of Species, ค.ศ. 1859) ก็มีผลทำให้ความเชื่อเรื่องพระเจ้า ความตาย และการฟื้นคืนชีพถูกตั้งคำถาม อย่างไรก็ตามคริสตศาสนาบางนิกายยังยืนยันที่จะทำศพด้วยกันฝังเท่านั้น
เมื่อมีผู้ป่วยหนักใกล้จะตาย ญาติพี่น้องจะรีบเชิญบาทหลวงไปประกอบพิธี ยังสถานที่ ที่คนป่วยรักษาตัวอยู่ เพื่อให้ตายในศีลในพระพรของพระเป็นเจ้า
คริสตศาสนิกชนนั้นเชื่อว่า เมื่อตายวิญญาณจะออกจากร่างกาย การตายอย่างสงบแสดงว่าวิญญาณนั้นมีความสุขสมบูรณ์ ขณะที่ผู้ซึ่งตายอย่างยากลำบาก แสดงถึงความสัมพันธ์ที่ไม่ราบรื่นระหว่างคนที่กำลังจะตาย และผู้ที่ยังอยู่ โดยปกติแล้วในพิธีนี้ผู้ที่ยังอยู่ จะต้องไม่แสดงความเศร้าโศกออกมาเนื่องจากเชื่อว่า จะเป็นการรบกวนการจากไปของผู้ที่กำลังจะสิ้นใจ
ทัศนะต่อความตายในคริสตศาสนา มี 3 ประการคือ
- เป็นสภาวะการเปลี่ยนผ่าน “เราจะไม่ไปไหน มีเพียงร่างกายที่เปลี่ยน” ความตายเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่แล้วและกำลังจะมาถึง ซึ่งนำไปสู่การตั้งคำถามว่า “เราจะมีชีวิต โดยใช้ชีวิตอย่างไร”
- ความเป็นหนึ่งเดียวของชีวิต และความตาย การมีชีวิตจึงต้องเป็นไปเพื่อสร้างความหมาย เพื่อรับใช้สังคมและโลก
- โลกไม่ใช้กลไก หากประกอบด้วยชีวิตภายใน ประวัติศาสตร์ มนุษย์ไม่ได้มีแต่เพียงประวัติศาสตร์ ของเศรษฐกิจ การเมืองหากยังประกอบด้วย มิติทางศาสนธรรม และจริยธรรม
นอกจากนี้แล้ว ความตายในทัศนะของคริสตศาสนิกชน ไม่ได้หมายถึงความตายของปัจเจกเท่านั้นหากยังรวมถึงความบีบคั้น การบิดเบียน ความอยุติธรรมในสังคม การทำลายสิ่งแวดล้อมและโลก เหล่านี้เป็นบาป เป็นความตายเชิงคุณค่า คริสตศาสนิกชนย่อมต้องทำลายบาปเหล่านั้น ด้วยการใช้ชีวิตในการสร้างสังคมที่ดี
โลกทัศน์ของคริสตศาสนิกชน คือการมองว่าสรรพสิ่ง ล้วนประกอบด้วยความมีชีวิต และชีวิตย่อมมีความศักดิ์สิทธิ์ โลกที่ศักดิ์สิทธิ์ไม่ได้เป็นโลกเดียวกับโลกียะ ความอยู่รอดของบุคคลย่อมเป็นสิ่งเดียวกับความอยู่รอดของโลกและจักรวาล
เมื่อถามถึงการพิจารณา “ตายก่อนตาย” ในวิถีคริสตศาสนา คุณพ่อนิพจน์ยกแก้วน้ำขึ้นมาหนึ่งแก้ว “นี่อย่างไรล่ะ น้องสาวน้ำของเรา ความตายของเธอได้มอบชีวิตให้กับเรา” เมื่อชี้ไปที่จานอาหาร “ขนมปังนี้ ข้าวนี้ได้มอบของขวัญให้กับเรา ความตายของข้าวนั้น เป็นไปเพื่อหล่อเลี้ยงเรา เตือนใจให้เราบริโภคด้วยความระมัดระวังและดำรงชีวิตที่มีความหมาย”