พลังแห่งการภาวนา…พลังแห่งการเปลี่ยนแปลง
จิม จอห์นสัน รับหน้าที่ใหม่ในการฟื้นฟูโรงแรมที่อยู่ในขั้นวิกฤต หลังจากที่ผู้จัดการคนอื่น ๆ พยายามมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง แต่ไม่มีใครทำสำเร็จโรงแรมนี้ต้องปรับปรุงอย่างเร่งด่วน ก่อนที่จะไม่ทันการณ์ จิมจึงคิดทำอะไรที่แตกต่างออกไปจากผู้อื่น…
ในทุกคืน เขาขับรถไปยังยอดเขาที่สามารถมองเห็นได้ทั้งโรงแรม และทิวทัศน์รอบเมือง เขาจอดรถและสวดภาวนาเป็นเวลา 20 นาทีทุก ๆ วันเขาภาวนาสำหรับลูกค้า พนักงาน และครอบครัวของเขา เขาภาวนาสำหรับธุรกิจต่าง ๆ ที่มีส่วนร่วมกับโรงแรม และสุดท้ายเขาภาวนาสำหรับผู้คน และเมืองแห่งนี้ คืนแล้วคืนเล่า จิมขับรถไปบนยอดเขานั่น เขาจอดรถและภาวนาเช่นเดิมในทุกๆวัน
หลังจากนั้นสถานการณ์ของโรงแรมก็เปลี่ยนไป พนักงานเริ่มกลับมามีความเชื่อมั่นอีกครั้ง มีลูกค้าใหม่ ๆ เข้ามา โรงแรมกลับเข้าสู่บรรยากาศของความอบอุ่น การบริหารงานดีขึ้น โรงแรมก้าวหน้าขึ้นใหม่อีกครั้ง อย่างเห็นได้ชัด
การเกิดใหม่ของโรงแรมนี้ มาจากการภาวนาคืนแล้วคืนเล่าของ จิม จอห์นสัน “หากการภาวนาของชายคนเดียวสามารถพลิกสถานการณ์ของโรงแรมได้ลองคิดดูซิว่าการภาวนาของคนในประเทศหนึ่งจะเปลี่ยนแปลงโลกได้อย่างไร”
เรื่องนี้ทำให้เกิดคำถามว่า การภาวนามีบทบาทในชีวิตของเราอย่างไรเราพบการภาวนาในรูปแบบที่ต่างกันซึ่งอาจเรียกได้ว่า เป็น ACTS คือ
Adoration – การนมัสการสรรเสริญ
Contrition – การสำนึกผิด
Thanksgiving – การขอบพระคุณ
Supplication – การวิงวอนขอ
การนมัสการสรรเสริญ (Adoration) เราสรรเสริญพระเจ้า ในฐานะที่พระองค์ทรงเป็นพระเจ้า โทมัส ทูลพระองค์ว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้าและพระเจ้าของข้าพเจ้า” (ยน 29 : 28)
การสำนึกผิด (Contrition) เราสำนึกว่าเราเป็นคนบาปที่วอนขอพระเมตตาจากพระเจ้า
การขอบพระคุณ (Thanksgiving) เราขอบพระคุณพระเจ้า ที่พระองค์ทรงประทานสิ่งมากมายแก่เรา พระเยซูเจ้าทรงภาวนาว่า “ข้าแต่พระบิดาเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินพระเจ้าสรรเสริญพระองค์” (ลก 10 : 21)
การวิงวอนขอ (Supplication) เราต้องการความช่วยเหลือจากพระเจ้า พระเยซูเจ้าทรงสอนสานุศิษย์ของพระองค์ว่า “จงขอเถิด แล้วท่านจะได้รับจงแสวงหาเกิดแล้วท่านจะพบ จงเคาะประตูเถิด แล้วเขาจะเปิดประตูรับท่าน” (ลก 11 : 9)
เมื่อสานุศิษย์ขอให้พระเยซูเจ้าทรงสอนพวกเขาให้ภาวนา พระองค์ทรงสอนบทภาวนาต่อองค์พระผู้เป็นเจ้า โดยรวมการภาวนาทั้ง 4 ประเภทนี้ไว้ในบทเดียวกัน
เราสรรเสริญพระเจ้าด้วยการภาวนา…”ข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลายพระองค์สถิตในสวรรค์ พระนามพระองค์ทรงเป็นที่สักการะ”
เรากล่าวสำนึกด้วยความสำนึกผิดว่า…”โปรดประทานอภัยแก่ข้าพเจ้าเหมือนข้าพเจ้าให้อภัยแก่ผู้อื่น”
แม้บทข้าแต่พระบิดาไม่ได้กล่าวถึงการขอบพระคุณพระเจ้าโดยตรง แต่มีผู้อธิบายเรื่องนี้ว่าตามธรรมเนียมชาวยิว การภาวนา นมัสการถือเป็นการขอบพระคุณพระเจ้า เช่นกัน พวกเขาให้เหตุผลว่า เวลาที่เราขอบพระคุณพระเจ้า เราสรรเสริญพระองค์ผู้ทรงเป็นพระเจ้า และสำหรับทุกสิ่งที่พระองค์ประทานแก่เรา จึงหมายความว่า เราสำนึกรู้คุณในสิ่งที่พระองค์เป็น และสิ่งที่พระองค์ทรงประทานแก่เรา
สุดท้ายการภาวนาวิงวอนขอ เป็นการขอพระองค์สำหรับสิ่งที่เราต้องการดังนั้นเราจึงกล่าวว่า… “โปรดประทานอาหารประจำวันแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายในวันนี้”
บางครั้งมีคนเคยถามว่า การวอนขอบางสิ่งจากพระเจ้า หรือขอให้พระองค์ทรงทำอะไรสักอย่าง เป็นการชักจูงให้พระองค์เปลี่ยนใจ หรือเปลี่ยนใจหรือเปล่า คำตอบคือ “ไม่อย่างแน่นอน” พระเจ้าไม่ได้ทรงต้องการปรีชาญาณของมนุษย์ในการแนะนำพระองค์ หรือต้องการแรงจูงใจใด ๆ ว่าสิ่งนั้นถูกต้อง หรือผิด สมควร หรือไม่สมควร
แล้วอย่างนั้นเราภาวนาทำไม แบลส์ ปาสคาล นักคณิตศาสตร์ชื่อดังในศตวรรษที่ 17 ตอบคำถามนี้ว่า
“การภาวนาเป็นหนึ่งในวิธีการ ที่พระเจ้าทรงเลือกใช้ในการแบ่งปันอำนาจอันไม่สิ้นสุดของพระองค์แก่เรา”
เหมือนที่ปรีชาญาณของพระเจ้า และพระพรแห่งการภาวนาให้พลังแก่เราแต่ละคน
พระเจ้าทรงสร้างจักรวาล ในลักษณะที่เราแต่ละคนร่วมในการสร้างนี้ ทั้งจากปรีชาญาณของมนุษย์ และจากการภาวนา พระเจ้าทรงให้เราเป็นมากกว่าแค่ผู้สังเกตการณ์อำนาจของพระองค์ แต่พระองค์ให้เรามีส่วนร่วมในอำนาจนั้น และนี่คือการที่เรามีพระฉายาลักษณ์ของพระเจ้า
อเล็กซิส คาร์เรล ศัลยแพทย์ผู้ได้รับรางวัลโนเบล กล่าวถึงการภาวนาว่า
”การภาวนาเป็นกิจการที่ขาดไม่ได้ ในการพัฒนาบุคคลไปสู่ขั้นสูงสุด การภาวนาเท่านั้น ที่จะทำให้เรามีทั้งร่างกาย จิตใจ และวิญญาณที่สมบูรณ์ ทำให้ความอ่อนแอของมนุษย์ กลายเป็นความมั่นคงเข้มแข็งที่ไม่มีวันสั่นคลอน”